Translate

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

Build Iron man ตอนที่ 2 " Site Engineer " [Part II]


          ว่ากันต่อถึงแนวทางอาชีพวิศวกรสนาม (Site Engineer)
       
           งาน Routine ของวิศวกรสนาม 
           
          ยามเช้ามาที่มาทำงาน สิ่งที่วิศวกรสนามต้องทำเลยก็คือ

   1.      ดูแผนงานก่อสร้าง     ดูแผนงานเพื่อให้ทราบว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง มีกำหนดการอะไรอย่างไร มีนัดหมายที่ำสำคัญๆอะไรบ้าง เช่นนัดกับรถเครนให้เข้ามาตอน 10 โมง  นัดรถคอนกรีตผสมเสร็จเข้ามาเทคอนกรีต  หรือนัดคุยงานกับช่าง กับผู้รับเหมา เป็นต้น  




 2.        ตรวจสอบว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่  หลังจากที่ทราบว่าวันนี้มีกำหนดการอะไรบ้างแล้ว ก็ให้ตรวจสอบตามรายการว่าเป็นไปตามที่เราต้องการแล้วหรือยัง  เช่น ตอนนี้ 9 โมงครึ่งแล้วรถเครนที่นัดไว้ตอน 10 โมงมาประจำการพร้อมที่หน้างานหรือยัง  คอนกรีตที่นัดเข้ามาเทคอนกรีตที่หน้างาน งานโครงสร้างหน้างานแล้วเสร็จพร้อมเทคอนกรีตหรือยัง ตรวจสอบปริมาณคอนกรีตที่จะทำการเทอีกครั้งโดยการวัดขนาดและพื้นที่จริงหน้างาน (ไม่ใช่ขนาดตามแบบ) เพราะอาจมีการคลาดเคลื่อน งานที่นัดคุยกับช่างหรือผู้รับเหมาเตรียมเอกสารเตรียมเรื่องที่จะพูดคุยแล้วหรือยัง


3.          Take Action หากงานไม่เป็นไปตามแผน   เช่น โทรศัพท์สอบถามบริษัทรถเครนว่าเดินทางมาแล้วหรือยัง  รีบแก้ไขหน้างานหากว่ายังไม่พร้อมเทคอนกรีต แบ่งคนงานมาช่วยกันรุมแก้ไขงานก่อนเพื่อให้ทันเวลารถคอนกรีตเข้ามา จะได้พร้อมเทคอนกรีต
           สิ่งที่สำคัญที่สุดในงานของวิศวกรสนามที่รับผิดชอบในแต่ละวันก็คือ ต้องรันระบบงานให้เป็นไปตามแผนงานให้ได้ อย่าให้งานสะดุดหรือประสบเหตุขัดข้องให้ล่าช้าได้  เพราะต้นทุนจะเพิ่มขึ้นทันที เมื่อลองพิจารณาจากแรงงานที่มาทำงาน รับเงินค่าแรงเป็นรายวัน ต้องให้มีการดำเนินการงาน ให้มีผลงานออกมาทุกๆวัน ถ้าไม่มีผลงานเกิดขึ้น หรือทำงานให้ปริมาณงานเกิดขึ้นน้อยกว่าค่าแรงงานที่จ่ายต่อวัน โอกาสที่บริษัทจะขาดทุนก็จะมีมากขึ้น

ความสำคัญของการที่งานเป็นไปตามแผนที่วางไว้
หากทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน เสาต้นนี้ถ้าไม่ได้เทคอนกรีต งานโครงสร้างพื้นชั้นถัดไปก็จะดำเนินการต่อไม่ได้


     4.         มอบหมายงานให้ผู้ช่วย  ไซต์งานก่อสร้างมีงานมากมายให้ทำ ดังนั้นเราต้องเลือกที่จะแบ่งงานบางส่วนที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาของเรา ที่พอจะช่วยงานเราได้บ้าง อย่าง โฟร์แมนหรือช่างในไซต์งาน  ง่ายๆเริ่มโดยการเช็คจำนวนคนงานกับโฟร์แมนก่อนว่าวันนี้คนงานมาทำงานกี่คน มีช่างมาทำงานกี่คน เพื่อจะได้กำหนดงานวางแผนให้ไปทำงาน ตามลำดับความสำคัญ และสัมพันธ์กับปริมาณงาน โดยทั่วไปโครงการก่อสร้างมักจะมีลำดับการทำงานไว้ในสัญญา แบ่งงานออกเป็นงวดงาน เพื่อที่กำหนดกรอบการทำงานให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างทำงานตามขั้นตอนให้เสร็จตามงวด เพื่อการเบิกจ่ายเงิน

     5.         ตรวจสอบและติดตามงานที่ทำ   งานที่มอบหมายในแต่ละวันนั้น วิศวกรสนามมีหน้าที่ต้องติดตามตรวจสอบผลการทำงาน และมาตรฐานของงานที่ให้แรงงานทำด้วย หากจะให้ดีควรที่จะบันทึกปริมาณงานที่ทำได้ต่อวัน เพื่อจะได้ทราบว่าเกิดผลงานออกมาเท่าไหร่ ประสิทธิภาพการทำงานคิดคำนวณออกมาดีหรือไม่ในเชิงตัวเลข และค้นหาสาเหตุว่าเพราะอะไรถึงทำงานออกมาได้ดี และเพราะอะไรถึงทำงานออกมาได้ไม่ดี  เพื่อหาทางแก้ไขหรือเสนอผู้บังคับบัญชาต่อไป บางครั้งการบันทึกอาจจะทำในรูปแบบของรายงานประจำวัน

ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้บันทึกการทำงานประจำวัน
ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้บันทึกการทำงานประจำวัน

    6.          ถ่ายภาพการทำงาน วิศวกรสนามควรถ่ายรูปในจุดที่สำคัญ และควรจะถ่ายภาพทุกวัน เพราะงานก่อสร้างบางจุดที่ เมื่อดำเนิการแล้วเสร็จไปแล้ว ถ้าหากไม่เก็บภาพไว้ก็จะไม่สามารถทราบได้เลยว่าตำแหน่งนั้นผิด-ถูกเป็นอย่างไร ผ่านแล้วผ่านเลย

                  งานอื่นๆ
          บางครั้งวิศวกรสนามอาจจะมีงานอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวมา ซึ่งเป็นระบบการทำงานของแต่ละบริษัทจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นผมจะยกตัวอย่างมา ตามประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เคยปฎิบัติงานมา

    สั่งวัสดุใช้งาน     บางบริษัทการสั่งวัสดุที่จะใช้งานก็เป็นหน้าที่ของวิศวกรสนามที่จะต้องเป็นคนสั่งของเตรียมวัสดุให้มีพอใช้ในหน่วยงาน จะมีเจ้าหน้าที่จัดซื้อเป็นคนจัดการประสานงานให้้เราอีกที โดยเราอาจจะมีระบบการสั่งวัสดุออนไลน์ หรือใช้วิธีเขียนใบสั่งวัสดุและแฟกซ์ส่งไปที่เจ้าหน้าที่จัดซื้อของบริษัท เป็นต้น  ถ้าหากว่าเราจะต้องประสานงานเองทุกอย่าง งานจะล้นมือเกินไปและไม่มีจะพลอยทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพได้
  

หากไม่มีคนควบคุมดูแลสั่งของ สั่งวัสดุมาให้ช่างเหล็กทำงาน งานในส่วนนั้นอาจถึงกับหยุดชะงักได้


   เป็นผู้ำกำกับการแสดง  วิศวกรสนามต้องเตรียมแบบก่อสร้างไว้ให้โฟร์แมนช่วยกันดูแลกำกับงานอีกที และคุยกันก่อนเพื่อให้เข้าใจตรงกัน งานออกมาจะได้ไม่ผิดพลาด  การสื่อสารระหว่างกันในไซต์งานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อทำงานอะไรใหม่ๆในช่วงแรกต้องดูแล อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เมื่อคนงานสามารถทำงานได้แล้วด้วยตนเองจึงค่อยๆคลายการดูแลได้บ้าง แต่อย่าให้ถึงกับละสายตาเลย เพราะลักษณะงานก่อสร้างมักจะมีความซ้ำๆกันในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ถ้าผูกเหล็กเสา 10 ต้น ถ้าหากต้นที่ 1 และ 2 ผูกเหล็กได้ถูกต้องดีแล้ว ต้นที่ 3-10 ก็พอจะปล่อยการดูแลได้บ้าง เป็นต้น

   ประสานงานระหว่างหน่วยงาน / บุคคล     เพื่อให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี การประสานงานกับบุคคลอื่นหรือหน่วยงานอื่นเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะโครงการก่อสร้างหนึ่งมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย สิ่งสำคัญควรจะจดชื่อ เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมลล์และช่องทางอื่นๆไว้สำหรับติดต่อให้มากที่สุด 
บางครั้งวิศวกรสนามต้องคุยงานตั้งแต่ เจ้าของงาน เจ้าของบริษัท บริษัทที่ปรึกษา เด็กส่งของ ไปยังแรงงาน คนงาน ผู้รับเหมาช่วง 

    จดบันทึกรายงานการประชุม     บริษัทรับเหมาก่อสร้างมักจะมีการประชุมกันเองภายในไซต์งานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  เพื่อหารือ สรุปงานที่ทำ ปัญหาอุปสรรค มาพูดคุยแก้ไขกัน และควรจัดทำบันทึกการประชุมไว้ พิมพ์และทำสำเนาส่งให้ผู้เข้าร่วมการประชุมคนละ 1 ชุด  ยังไม่นับการประชุมกับหน่วยงานภายนอกอื่นๆ 

                   






4 ความคิดเห็น:

  1. -ขอบคุณที่ถ่ายทอดประสปการณ์นะครับ ถึงผมเครื่องกลไม่ใช่โยธา ก็ได้ความรู้มากเลยครับ ..

    ตอบลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  3. อยากให้มีอีกเรื่อยๆครับ

    ตอบลบ