Translate

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Build iron Man ตอนที่ 6 ว่ากันเรื่องเงินเดือน




สวัสดีครับ พบกับ Build Civil Man อีกครั้งนะครับ
วันนี้ขอพักเรื่องอาชีพและงานของวิศวกรโยธาก่อน เรามาเปลี่ยนเรื่องคุย กันดีกว่า
เรื่องคุยใหม่ที่ว่า คงเป็นเรื่องชอบของคนหลายๆคนนะครับ นั่นคือเรื่ิองของ
เงินๆทองๆ
หลายๆคนคงอยากทราบว่าเงินเดือนของวิศวกรโยธานั้นอยู่ที่เท่าไหร่กัน
ของแบบนี้มันอยู่ที่ช่วงเวลาและเศรษฐกิจครับ
ตำนานเล่าว่า... ช่วงปีพุทธศักราช 2535 ในยุคที่ทองคำบาทละไม่ถึงหมื่นวิ่งอยู่ในช่วงหลักพันบาท
มีนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ยุคที่ที่ดินโอนเปลี่ยนมือกันอย่างบ้าคลั่ง
ในโฉนดที่ดิน 1 ใบ ว่ากันว่า เช้าถึงเย็นโอนเปลี่ยนมือกันถึง 3 ครั้งภายในวันเดียวกัน
และคนสุดท้ายซื้อแพงกว่าคนแรกที่ขาย 2 เท่า
ในยุคที่ตบาดหุ้นพุ่งไป 1700 กว่าจุด
อาชีพวิศวกรโยธา จบใหม่ เงินเดือนสตาร์ท 40,000 บาท และมีบริษัทมาจองตัวถึงมหาวิทยาลัย
และ...
ตำนานเดียวกันนั้นอีก(นั่นแหล่ะ).. เล่าว่าถัดมา 7 ปีจากยุคดังกล่าว วิศวกรโยธาจบมาเงินเดือน 8,000 บาท
และมีข้อแม้ว่าต้องหางานทำได้ด้วย
ที่ไม่มีงานทำ หากอยากทำงานน่ะ ก็รับอยู่นะ แต่ไปกรอกใบสมัครตำแหน่งโฟร์แมน(หัวหน้าคนงาน)โน่น
วิศวกรรุ่นโชคร้ายทางเศรษฐศาสตร์รุ่นนั้น ปัจจุบันเข้าทำงานในระบบราชการกันร้อยละ 70
อีกร้อยละ 25 เรียนต่อปริญญาโท MBA ได้ดิบได้ดีกันในวงการการเงิน เพราะพวกนี้หัวดีด้านคำนวณเป็น
ต้นทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว บวกกับศาสตร์ด้านการเงิน ทำให้เดินในเส้นทางสายนี้ได้ดี
เกริ่นมาเนิ่นนาน ผมก็ไม่ได้คลุกคลีเงินเดือนปัจจุบันมากมายนักในยุคปริญญาตรี 15,000 บาท
ค่าแรงวันละ 300 บาท ในความรู้สึกตึกรามบ้านเรือนขึ้นใหม่มากมายเหลือเกิน วงการนี้กำลังจะบูม!!
ค่าจ้างเงินเดือนมันก็ควรจะบูมตามไปด้วยสินะ แต่...ไม่ใช่ !!
จากการสำรวจ โดยโพลตัวเอง ไปถามคนนั้นคนนี้ที่รู้จัก ไปดูในเวปสมัครงาน
เอาเงินเดือนล้วนๆ ไม่นับค่าวิชาชีพ ค่าใบกว. ค่าออกไซต์ ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ โอที ฯลฯ
ประมวลผลออกมาได้ว่า ดังนี้
                                   บริษัทไทยๆธรรมดา                     บริษัทไฮเอนด์ ลูกครึ่งต่างชาติ
วิศวกรสำรวจ จบใหม่ 13,000 ถึง 15,000 บาท                        18,000 ถึง 21,000   บาท
วิศวกรสนาม   จบใหม่ 14,000 ถึง 16,000 บาท                       19,000 ถึง 23,000   บาท
วิศวกรสำนักงาน จบใหม่  14,000 ถึง 16,000 บาท                   16,000 ถึง 25,000   บาท

วิศวกรโครงการ.             25,000 ถึง 45,000 บาท                   28,000 ถึง 60,000   บาท

โปรเจคเมเนเจอร์            40,000 ถึง 70,000 บาท                    60,000 ถึง 120,000 บาท

(ผู้จัดการโครงการ)


เหนือกว่านี้ไปจะเป็นตำแหน่งบริหารแล้วไม่ขอพูดถึงนะครับ อย่าง ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม ไม่ขอเอ่ยถึงครับ

ไว้เดี๋ยวมาต่อกันตอนหน้า

สำหรับวันนี้ ขอตัวก่อน. แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ


วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ฺBuild Iron man ตอนที่5 " office engineer " [Part ii ]



 การทำ บาร์คัดลิสต์ ก็เป็นงานสำคัญอย่างหนึ่งของ OE.
 คือการจัดทำแบบการตัดเหล็กเสริมคอนกรีต เพื่อให้เหล็กเหลือเศษให้น้อยที่สุด
 คือ ใช้เหล็กเส้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะกำไรหรือไม่กำไรก็ดูกันที่ตรงนี้ด้วยบางที
 โครงการใหญ่ๆที่ต้องใช้เหล็กจำนวนมากก็คุ้มค่าที่จะทำทีเดียว



 นอกเหนือจากงานด้านเอกสารสำคัญๆในเชิงเทคนิคแล้ว งานของ OE นั้น
 ยังอาจจะมีเรื่องของการประสานงานกับอีกหลากหลายกลุ่มคนอีกด้วย
 เช่น การตรวจเช็คผลงานผู้รับเหมา กล่าวคือ เมื่อผู้รับเหมาได้ทำงานแล้วเสร็จไประดับหนึ่ง
 ก็จะจัดทำเอกสารเรื่องขอส่งผลงานเพื่อเบิกจ่ายเงินค่าจ้างที่ได้ทำไป วิธีคิดผลงานก็ตามแต่จะตกลงกัน
 ในตอนทำสัญญาจ้างกันระหว่างสองฝ่าย บางครั้งก็จ้างแบบเหมารวม (Lump sum)
 บางครั้งก็จ้างแบบราคาต่อหน่วย (unit cost) โดยจะมีช่างหรือโฟร์แมนคอยช่วยเราวัดปริมาณงานพร้อมทั้ง
 ตรวจสอบคุณภาพผลงานของผู้รับเหมาท่านนั้นด้วย อาจมีงานแก้ไขตรงจุดที่เราเห็นว่าไม่น่าจะส่งงวดงานผ่าน
 แต่ความยากไม่ได้อยู่ตรงนั้น อยู่ที่ตอนหลังจากวัดปริมาณหรือเบิกเงินแล้วนั้น หากผู้รับเหมาเกิดภาวะขาดทุนขึ้นมา
 ความลำบากใจบังเกิดเลย ณ บัดนาวทันที แต่ให้ข้อเตือนใจน้องๆที่ทำงานตรงนี้ว่า ขอให้ยึดถือปริมาณงานตามที่เราคิดได้
 ไว้ก่อน ส่วนหน้าที่จะช่วยปรับแก้ไขอย่างไรให้เป็นหน้าที่ของ ผู้จัดการโครงการหรือผู้มีอำนาจคนอื่นดีกว่า
 เพราะการทำอะไรโดยพลการ แม้จะหวังดีก็ตาม กลัวว่าผู้รับเหมาจะทิ้งงานแล้วบริษัทจะเสียหายมากกว่าเงินหลักพันหลักหมื่นนั้น
 เป็นหน้าที่ของผู้จัดการโครงการที่จะพิจารณาต่อไป



ฺBuild Iron man ตอนที่4 " office engineer " [Part I]


 สำหรับอาชีพวิศวกรโยธา สายงานทาง office engineer ชื่อก็บอกตรงตัวอยู่แล้วนะครับว่า ส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปในงานด้านสำนักงาน จะออกไปหน้าไซต์งานโอกาสก็น้อย ถึงน้อยมาก

 หน้าที่ส่วนใหญ่ก็มักจะเกี่ยวกับงานด้านเอกสาร ซึ่งก็เยอะแยะมากมาย
 ยกตัวอย่างเช่น
 การทำ Shop Drawing  ความหมายของการทำ shop drawing ก็คือแบบก่อสร้างที่กำลังจะนำไปก่อสร้างจริง
 บางคนบอกว่า อ่าว แล้วทำไม ไม่ทำตามแบบก่อสร้างเดิมล่ะ  ?

 อธิบายง่ายๆอย่างนี้ครับ คือบางครั้ง ระยะที่เราเห็นกับระยะตามความเป็นจริงในแบบก่อสร้าง มันไม่เท่ากัน 
 ไม่ใช่ความผิดของผู้รับเหมาทำผิดพลาดซะทีเดียวหรอก บางครั้งแบบก่อสร้างเองก็ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์
 ติดโครงสร้างเสาบ้าง แนวเหลื่อมผนังบ้าง ระดับฝ้าเพดานไม่ได้บ้าง หากเกิดปัญหาแบบนี้ ขืนดันทุรังสร้างไปตามแบบเดิม
 มีหวังแก้ไขงานกันตามหลังกระจาย กำไรหายหมด เสียทั้งเวลาเสียทั้งค่าใช้จ่าย
  OE (office engineer) ก็จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่จุดนี้ให้ 

 หรือ บางคราวมีปรับเปลี่ยนแก้ไขงาน ตามที่เจ้าของงานสั่งมา หรือ คอนซัลท์สั่งมา OE ก็จะต้องทำเป็น
 บันทึกข้อความ ว่ามีเนื้อหาสาระอย่างไรบ้าง ที่เค้าสั่งมาแก้ไข เพื่อเป็นบันทึกช่วยจำและเป็นหลักฐานกันทั้งสองฝ่าย
 เผื่อภายหลังมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จะได้ไม่กล่าวโทษกัน โดยให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ หรือตัวแทนที่มีอำนาจเซ็นรับทราบ
 ในบันทึกข้อความทังสองฝ่าย


 
 ซึ่งบางครั้งจะเกิด มูลค่าการเปลี่ยนแปลงของงาน เราเรียกว่า "งานเพิ่ม-งานลด"
 จะทำเอกสารแก้ไขเปลี่ยนแปลง ที่เราเรียกกันว่า VO.
 variation order หรือบางครั้งเรียกว่า change order ก็คืออันเดียวกัน 

ทั้งสองคำ หมายถึง เอกสารสั่งการ /แจ้ง เรื่องการเปลี่ยนแปลงงาน หรือขอบเขตงานจากข้อตกลงตามสัญญา หรือแบบแนบสัญญา ฯลฯลงนามอนุมัติโดยผู้มีอำนาจสั่งการตามสัญญา เช่นผู้ว่าจ้าง วิศวกรที่ปรึกษา หรือ สถาปนิก/วิศวกรผู้ออกแบบ (ต้องดูจากสัญญาก่อสร้างนะครับว่าใครเป็นผู้มีอำนาจ)พูดง่ายๆ ก็คือฝ่ายเจ้าของงานอยากเปลี่ยนแปลงอะไรจากแบบก่อสร้าง (แนบสัญญา) ก็ต้องออกเอกสารแจ้งผู้รับจ้างให้ทราบ/ดำเนินการนั้นเอง

บางทีเอกสารจะออกมาจากผู้รับจ้างก็ได้ เช่นผู้รับจ้างได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงจากการประชุมโครงการ หรือมีเอกสารสั่งการมา ก็จะทำเป็นแบบฟอร์ม variation order หรือ change order ระบุรายละเอียดงานที่เปลี่ยนแปลง ราคางานเพิ่ม/ลด ระยะเวลาที่เพิ่ม/ลดส่งให้ฝ่ายเจ้าของงานลงนามอนุมัติก่อนดำเนินงาน





วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

Build Iron man ตอนที่ 3 " Site Engineer " [Part III] วิทยายุทธที่จำเป็น

          แล้วก็มาถึงตอนที่ 3 ของบล๊อก Build Civil Man ตอน Build Iron Man นะครับ ที่มาของชื่อตอน ก็ไม่มีอะไรมาครับ แค่ผู้เขียนก็ขอเกาะกระแสหนังดังที่กำลังจะเข้าโรงภาพยนต์ฉายกันเร็วๆนี้
       
          ในการทำงานขั้นต้น เราก็ควรจะมีวิชาหรือวิทยายุทธติดตัวไว้บ้าง สำหรับไว้ป้องกันตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นในยุทธภพ ไปๆมาๆกลายเป็นหนังจีนกำลังภายในไปซะละ 555
       
           วิชาแรกที่ควรจะมีติดตัวคือ วิชามนุษยสัมพันธ์ ครับ  น้องๆวิศวกรท่านใดคิดว่าเจ๋ง คิดว่าแน่ อีโก้สูงก่อนเข้าไปไซต์งานก่อสร้าง ให้เอาวางกองทิ้งไว้หน้าปากทางเข้ารั้ว ตรงนั้นก่อนนะครับ หากคุณเป็นคนที่ IQ ดีแต่ EQ. ต่ำนั้น ผมรับรองว่างานนี้ไม่เหมาะกับคุณเลย เพราะอะไรน่ะหรือครับ เพราะว่าเราไม่สามารถทำงานทั้งหมดทั้งมวลในโครงการก่อสร้างได้ด้วยตัวคนเดียวครับ

            ต้องทำงานเป็นทีม !! ทีมของเราประกอบด้วย กลุ่มคนที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การทำให้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จด้วยดี อย่างมีคุณภาพและกำไร    

            เมื่อต้องทำงานเป็นทีมแล้วมนุษยสัมพันธ์กับคนในทีมของเราต้องดี และรักษาความสัมพันธ์ในเชิงบวกเข้าไว้ และต้องมีเป้าหมายวัตถุประสงค์เดียวกัน จึงจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก



          วิชาที่สอง วิชาการแก้ปัญหา ในแต่ละวันหน้างานก่อสร้างมักจะเจอปัญหาอยู่ทุกวัน ไม่ต้องตกใจเป็นเรื่องปกติ  เมื่อเจอปัญหาให้เราฝึกที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา อย่าหลบหนี ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอมักจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งมักจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว มักจะมีเวลาและทรัพยากรอย่างจำกัดสำหรับวิธีการหาทางแก้ไขปัญหา โดยทั่วไปมักจะแก้ไขได้ไม่ค่อยดีในช่วงเริ่มต้น ควรจะหาผู้รู้เพื่อ ปรึกษาก่อนจะตัดสินใจกระทำการใดออกไป แต่ถ้าหากเรามีการฝึกที่จะแก้ไขบ่อยๆแล้ว ช่วงหลังๆปัญหามักจะซ้ำๆกัน ทำให้การแก้ปัญหากลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับเรา ขอให้อดทนผ่านช่วงแรกไปได้ช่วงหลังจะสบายขึ้น รับรองเราจะเก่งขึ้นอย่างหาตัวจับได้ยากและจะแลดูมีค่าในวงการ





          วิชาที่สาม วิชาความอดทน วิศวกรสนามควรจะมีความอดทนเป็นอย่างยิ่งจึงจะก้าวไกลในสายอาชีพนี้ แบ่งได้เป็นสองประเภท คือ ความอดทนทางกาย และ ความอดทนทางใจ 
          ความอดทนทางกายนั้นได้แก่ อดทนต่อความร้อน แสงแดด อดทนต่อความยากลำบากภายนอกทั้งหลาย ส่วนความอดทนทางใจนั้น เช่น อดทนต่อเสียงด่าเสียงตำหนิ การควบคุมอารมณ์ การรู้จักยับยั้งชั่งใจระหว่างความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เป็นต้น

          เอาล่ะ เมื่อกล่าวถึง 3 วิชาบู๊ แล้วนั้น ต่อไปก็ขอกล่าวถึงวิชาบุ๋น 
          
          วิชาบุ๋นหลักๆที่ใช้บ่อยสำหรับงานวิศวกรสนามได้แก่ 

          Drawing      สำหรับใช้ดูแบบก่อสร้าง การอ่านแบบสำคัญ บางครั้งต้องจินตนาการจาก 2 มิติเป็น 3 มิติได้หากทำได้แบบนี้จะดีมาก บางครั้งก็ต้องใช้โปรแกรม Autocad ได้บ้างจะได้เปรียบ หากเขียน AutoCad ไม่ได้เลยก็ไม่ไหวเหมือนกัน บางที Shop Drawing ก็ต้องทำเองได้

          Survey      บริษัทบางแห่ง ก็อาจจะไม่ได้ใช้เลยเพราะ อาจจะมีช่างสำรวจให้ในบริษัท แต่บางที่ก็ต้องทำเองทุกอย่าง ที่ใช้บ่อยคือการหาแนวเสา แนวอาคาร และหาค่าระดับ โดยใช้กล้องสำรวจ คำนวณไม่ค่อยมีแต่จะเน้นปฏิบัติเสียมากกว่า

          RC Design แต่ใช้ไม่มากสัก 10% ของที่เรียนได้ เนื้องานโดยทั่วไป ไม่ค่อยได้ออกแบบอะไรมากสำหรับหน้างาน นานๆจะมีสักครั้้ง ที่จะต้องคำนวณและเซ็นรับรองรายการคำนวณ ส่งให้ที่ปรึกษาตรวจแต่ที่ควรจะรู้หลักๆเบื้องต้น เช่น การรับน้ำหนักของนั่งร้าน  ค้ำยัน  Dead load , Live load ควรจะมีติดตัวไว้บ้าง 

           Estimate  งานถอดแบบประมาณราคาเป็นทักษะสำคัญ ไว้สำหรับสั่งของสั่งวัสดุใช้งานหรือไว้ใช้หาปริมาณงานที่จะจัดจ้างผู้รับเหมาช่วง  บ่อยครั้งที่มักจะได้รับงานถอดปริมาณเพื่อสั่งวัสดุหรืองานอื่นๆที่ต้องใช้ความรู้ด้านการประมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การวัดปริมาณงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งประกอบการวางแผนการใช้คน เครื่องจักร เป็นต้น 

           Foundation     ส่วนใหญ่จะใช้ช่วงงานดินงานฐานรากเสาเข็ม กำแพงกันดิน คำนวณหาค่า Blow count หรืออาจจะใช้หาค่างานแก้ไขกรณีเสาเข็มไม่ได้มาตรฐาน เช่น เสาเข็มหัก เสาเข็มเยื้องศูนย์เป็นต้น 

           ที่เหลือก็เป็นวิชาการด้านอื่นๆที่จะได้ใช้น้อยมาก เมื่อเทียบกับวิชาข้างต้น และที่สำคัญที่สุดยังมีความรู้อีกมากมายหลายอย่างที่ไม่มีสอนในตำราเรียน เราจำเป็นจะต้องหาความรู้เพิ่มเติม จากการทำงานจริง หาเอาจากประสบการณ์หน้างาน หรือหน่วยงานอื่นๆที่เชี่ยวชาญที่ได้รวบรวมไว้ มาศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นจอมยุทธได้ในอนาคต
          




วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

Build Iron man ตอนที่ 2 " Site Engineer " [Part II]


          ว่ากันต่อถึงแนวทางอาชีพวิศวกรสนาม (Site Engineer)
       
           งาน Routine ของวิศวกรสนาม 
           
          ยามเช้ามาที่มาทำงาน สิ่งที่วิศวกรสนามต้องทำเลยก็คือ

   1.      ดูแผนงานก่อสร้าง     ดูแผนงานเพื่อให้ทราบว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง มีกำหนดการอะไรอย่างไร มีนัดหมายที่ำสำคัญๆอะไรบ้าง เช่นนัดกับรถเครนให้เข้ามาตอน 10 โมง  นัดรถคอนกรีตผสมเสร็จเข้ามาเทคอนกรีต  หรือนัดคุยงานกับช่าง กับผู้รับเหมา เป็นต้น  




 2.        ตรวจสอบว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่  หลังจากที่ทราบว่าวันนี้มีกำหนดการอะไรบ้างแล้ว ก็ให้ตรวจสอบตามรายการว่าเป็นไปตามที่เราต้องการแล้วหรือยัง  เช่น ตอนนี้ 9 โมงครึ่งแล้วรถเครนที่นัดไว้ตอน 10 โมงมาประจำการพร้อมที่หน้างานหรือยัง  คอนกรีตที่นัดเข้ามาเทคอนกรีตที่หน้างาน งานโครงสร้างหน้างานแล้วเสร็จพร้อมเทคอนกรีตหรือยัง ตรวจสอบปริมาณคอนกรีตที่จะทำการเทอีกครั้งโดยการวัดขนาดและพื้นที่จริงหน้างาน (ไม่ใช่ขนาดตามแบบ) เพราะอาจมีการคลาดเคลื่อน งานที่นัดคุยกับช่างหรือผู้รับเหมาเตรียมเอกสารเตรียมเรื่องที่จะพูดคุยแล้วหรือยัง


3.          Take Action หากงานไม่เป็นไปตามแผน   เช่น โทรศัพท์สอบถามบริษัทรถเครนว่าเดินทางมาแล้วหรือยัง  รีบแก้ไขหน้างานหากว่ายังไม่พร้อมเทคอนกรีต แบ่งคนงานมาช่วยกันรุมแก้ไขงานก่อนเพื่อให้ทันเวลารถคอนกรีตเข้ามา จะได้พร้อมเทคอนกรีต
           สิ่งที่สำคัญที่สุดในงานของวิศวกรสนามที่รับผิดชอบในแต่ละวันก็คือ ต้องรันระบบงานให้เป็นไปตามแผนงานให้ได้ อย่าให้งานสะดุดหรือประสบเหตุขัดข้องให้ล่าช้าได้  เพราะต้นทุนจะเพิ่มขึ้นทันที เมื่อลองพิจารณาจากแรงงานที่มาทำงาน รับเงินค่าแรงเป็นรายวัน ต้องให้มีการดำเนินการงาน ให้มีผลงานออกมาทุกๆวัน ถ้าไม่มีผลงานเกิดขึ้น หรือทำงานให้ปริมาณงานเกิดขึ้นน้อยกว่าค่าแรงงานที่จ่ายต่อวัน โอกาสที่บริษัทจะขาดทุนก็จะมีมากขึ้น

ความสำคัญของการที่งานเป็นไปตามแผนที่วางไว้
หากทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน เสาต้นนี้ถ้าไม่ได้เทคอนกรีต งานโครงสร้างพื้นชั้นถัดไปก็จะดำเนินการต่อไม่ได้


     4.         มอบหมายงานให้ผู้ช่วย  ไซต์งานก่อสร้างมีงานมากมายให้ทำ ดังนั้นเราต้องเลือกที่จะแบ่งงานบางส่วนที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาของเรา ที่พอจะช่วยงานเราได้บ้าง อย่าง โฟร์แมนหรือช่างในไซต์งาน  ง่ายๆเริ่มโดยการเช็คจำนวนคนงานกับโฟร์แมนก่อนว่าวันนี้คนงานมาทำงานกี่คน มีช่างมาทำงานกี่คน เพื่อจะได้กำหนดงานวางแผนให้ไปทำงาน ตามลำดับความสำคัญ และสัมพันธ์กับปริมาณงาน โดยทั่วไปโครงการก่อสร้างมักจะมีลำดับการทำงานไว้ในสัญญา แบ่งงานออกเป็นงวดงาน เพื่อที่กำหนดกรอบการทำงานให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างทำงานตามขั้นตอนให้เสร็จตามงวด เพื่อการเบิกจ่ายเงิน

     5.         ตรวจสอบและติดตามงานที่ทำ   งานที่มอบหมายในแต่ละวันนั้น วิศวกรสนามมีหน้าที่ต้องติดตามตรวจสอบผลการทำงาน และมาตรฐานของงานที่ให้แรงงานทำด้วย หากจะให้ดีควรที่จะบันทึกปริมาณงานที่ทำได้ต่อวัน เพื่อจะได้ทราบว่าเกิดผลงานออกมาเท่าไหร่ ประสิทธิภาพการทำงานคิดคำนวณออกมาดีหรือไม่ในเชิงตัวเลข และค้นหาสาเหตุว่าเพราะอะไรถึงทำงานออกมาได้ดี และเพราะอะไรถึงทำงานออกมาได้ไม่ดี  เพื่อหาทางแก้ไขหรือเสนอผู้บังคับบัญชาต่อไป บางครั้งการบันทึกอาจจะทำในรูปแบบของรายงานประจำวัน

ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้บันทึกการทำงานประจำวัน
ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้บันทึกการทำงานประจำวัน

    6.          ถ่ายภาพการทำงาน วิศวกรสนามควรถ่ายรูปในจุดที่สำคัญ และควรจะถ่ายภาพทุกวัน เพราะงานก่อสร้างบางจุดที่ เมื่อดำเนิการแล้วเสร็จไปแล้ว ถ้าหากไม่เก็บภาพไว้ก็จะไม่สามารถทราบได้เลยว่าตำแหน่งนั้นผิด-ถูกเป็นอย่างไร ผ่านแล้วผ่านเลย

                  งานอื่นๆ
          บางครั้งวิศวกรสนามอาจจะมีงานอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวมา ซึ่งเป็นระบบการทำงานของแต่ละบริษัทจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นผมจะยกตัวอย่างมา ตามประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เคยปฎิบัติงานมา

    สั่งวัสดุใช้งาน     บางบริษัทการสั่งวัสดุที่จะใช้งานก็เป็นหน้าที่ของวิศวกรสนามที่จะต้องเป็นคนสั่งของเตรียมวัสดุให้มีพอใช้ในหน่วยงาน จะมีเจ้าหน้าที่จัดซื้อเป็นคนจัดการประสานงานให้้เราอีกที โดยเราอาจจะมีระบบการสั่งวัสดุออนไลน์ หรือใช้วิธีเขียนใบสั่งวัสดุและแฟกซ์ส่งไปที่เจ้าหน้าที่จัดซื้อของบริษัท เป็นต้น  ถ้าหากว่าเราจะต้องประสานงานเองทุกอย่าง งานจะล้นมือเกินไปและไม่มีจะพลอยทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพได้
  

หากไม่มีคนควบคุมดูแลสั่งของ สั่งวัสดุมาให้ช่างเหล็กทำงาน งานในส่วนนั้นอาจถึงกับหยุดชะงักได้


   เป็นผู้ำกำกับการแสดง  วิศวกรสนามต้องเตรียมแบบก่อสร้างไว้ให้โฟร์แมนช่วยกันดูแลกำกับงานอีกที และคุยกันก่อนเพื่อให้เข้าใจตรงกัน งานออกมาจะได้ไม่ผิดพลาด  การสื่อสารระหว่างกันในไซต์งานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อทำงานอะไรใหม่ๆในช่วงแรกต้องดูแล อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เมื่อคนงานสามารถทำงานได้แล้วด้วยตนเองจึงค่อยๆคลายการดูแลได้บ้าง แต่อย่าให้ถึงกับละสายตาเลย เพราะลักษณะงานก่อสร้างมักจะมีความซ้ำๆกันในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ถ้าผูกเหล็กเสา 10 ต้น ถ้าหากต้นที่ 1 และ 2 ผูกเหล็กได้ถูกต้องดีแล้ว ต้นที่ 3-10 ก็พอจะปล่อยการดูแลได้บ้าง เป็นต้น

   ประสานงานระหว่างหน่วยงาน / บุคคล     เพื่อให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี การประสานงานกับบุคคลอื่นหรือหน่วยงานอื่นเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะโครงการก่อสร้างหนึ่งมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย สิ่งสำคัญควรจะจดชื่อ เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมลล์และช่องทางอื่นๆไว้สำหรับติดต่อให้มากที่สุด 
บางครั้งวิศวกรสนามต้องคุยงานตั้งแต่ เจ้าของงาน เจ้าของบริษัท บริษัทที่ปรึกษา เด็กส่งของ ไปยังแรงงาน คนงาน ผู้รับเหมาช่วง 

    จดบันทึกรายงานการประชุม     บริษัทรับเหมาก่อสร้างมักจะมีการประชุมกันเองภายในไซต์งานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  เพื่อหารือ สรุปงานที่ทำ ปัญหาอุปสรรค มาพูดคุยแก้ไขกัน และควรจัดทำบันทึกการประชุมไว้ พิมพ์และทำสำเนาส่งให้ผู้เข้าร่วมการประชุมคนละ 1 ชุด  ยังไม่นับการประชุมกับหน่วยงานภายนอกอื่นๆ 

                   






ฺBuild Iron man ตอนที่1 " site engineer " [Part I]

       
          หากนักศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมโยธา จบออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัยมาใหม่ อาชีพการงานที่ควรมองหาตำแหน่งแรกเลยน่าจะเป็นวิศวกรสนาม หรือ Site Engineer เพราะจะเป็นงานที่ให้ความรู้ตรงประเด็น สัมผัสของจริงกันเลยว่ากันอย่างนั้น และบางที่ไม่้เน้นประสบการณ์ทำงานสักเท่าไหร่ จบใหม่ก็รับอื่นๆค่อยมาหาความรู้กันหน้างาน



                                                                    วิศวกรสนาม คืออะไร ??

          ตามคำนิยามของผมส่วนตัวน่าจะเป็น บุคคลที่คอยกำกับดูแลการทำงาน ที่ประจำอยู่ที่หน้างานก่อสร้างประสานงาน สั่งการ โฟร์แมน ช่าง แรงงาน ด้านต่างๆ ว่าควรจะต้องทำอะไร อย่างไรตามขั้นตอนการทำงานและแผนงาน โดยใช้ทฤษฎีความรู้ทางด้านวิศวกรรมโยธาเข้ามารองรับ

           ลักษณะงานโดยทั่วไปก็คือ ทำงานอยู่หน้างานก่อสร้าง คลุกคลีตีวง อยู่กับช่าง ผู้รับเหมา ดูแลงานก่อสร้างชนิดใกล้ชิด ในวันหนึ่งๆต้องพบป่ะผู้คนมากมายหลากหลายกลุ่มมากผู้คนที่มาเกี่ยวข้อง  เพราะในงานก่อสร้างโครงการหนึ่ง มักประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องหลากหลายปาร์ตี้ที่มีส่วนร่วมในการรังสรรค์งานก่อสร้างอาคารหนึ่งให้ประสบความสำเร็จได้

            วิศวกรสนามของบริษัทรับเหมาก่อสร้างงานอาคารทั่วไปนั้นมีลักษณะงาน Routine อาจจะแตกต่างกันไป ตามแต่ระบบงานของแต่ละบริษัท การทำงานนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปจะไม่หนีไปจากที่ระบุึนี้สักเท่าไหร่

             เช้ามา..  ไม่จำเป็นต้องเข้าไปที่ออฟฟิศใหญ่ ส่วนใหญ่วิศวกรสนามมาทำงานที่หน้างานที่โครงการเลย  ที่ไซต์งานก่อสร้างมักจะมีออฟฟิศเล็กๆชั่วคราวให้เราเข้าไปทำงาน เราจะเรียกออฟฟิศนั้นกันว่า " สำนักงานสนาม "



              สำนักงานสนาม

              สำนักงานสนามนั้นคือ สถานที่ทำงานของวิศวกรสนาม บ้างก็ทำจากตู้คอนเทนเนอร์ที่ดัดแปลงให้มีเครื่องปรับอากาศ มีห้องน้ำในตัว มีหลังคา บางที่ดูดีหน่อยก็มีฉนวนกันความร้อนให้ด้วย ข้อดีของสำนักงานสนามแบบตู้คอนเทนเนอร์ก็คือขนย้ายสะดวกเนื่องจากเมื่อจบโครงการก็สามารถนำรถยก มาขนย้่ายสำนักงานได้เลย บางครั้งสำนักงานสนามก็อาจทำจากวัสดุก่อสร้างขึ้นใหม่ แต่เป็นวัสดุชั่วคราวรื้อถอน-ประกอบได้ง่าย บางที่ประหยัดงบประมาณมากๆก็นำวัสดุเหลือใช้ ที่รื้อมาจากไซต์งานอื่นมาประกอบขึ้นใหม่เป็นสำนักงาน ทำอย่างไรก็ได้ให้นั่งทำงานได้ว่ากันแบบนั้น




          ขนาดของสำนักงานสนามนั้น จะใหญ่จะเล็กดูดีหรือไม่ก็แล้วแต่มูลค่างานก่อสร้างโครงการ กับจำนวนพนักงานที่บริษัทจัดสรรเข้ามาทำงานและผูกเงื่อนไขไว้กับสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง และสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษา เช่น ถ้างบประมาณงานก่อสร้างสูงสำนักงานก็จะดูดีมีระดับ อุปกรณ์ครบครัน บางที่ระบุ Spec ละเอียดไปเลยว่าสำนักงานต้องมีขนาด กี่ตารางเมตร มีเครื่องปรับอากาศกี่ชุด ต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้างและต้องสร้างสำนักงานเผื่อหน่วยงานอื่น อย่างตัวแทนเจ้าของงาน หรือบริษัทที่ปรึกษาหรือไม่

          สำนักงานสนามที่ดีจะต้องมีห้องประชุม เพราะงานก่อสร้างมักจะมีการประชุมงาน ค่อนข้างบ่อย อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง บางทีช่วงเร่งงานมากๆอาจประชุมกันทุกวันก็มี ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ห้องน้ำ..ควรสร้างแยกออกมาจากตัวสำนักงาน ทำการดูทิศทางให้อยู่ใต้ลมเข้าไว้จะดี เพื่อป้องกันกลิ่นและปัญหาอื่นๆ

          อุปกรณ์เครื่องใช้ก็ควรมีติดไว้เหมือนสำนักงานทั่วไป ที่สำคัญและจำเป็นผมขอเน้นไปที่  กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ ปรินท์เตอร์ กระดาษพร้อมหมึกพิมพ์ ตู้เก็บเอกสาร โต๊ะกางแบบ เพราะจำเป็นมาก เอกสารสำคัญควรเก็บไว้ที่ตู้เก็บเอกสาร เพราะถ้าหายย่อมไม่พ้นความรับผิดชอบของวิศวกรอย่างเราๆที่จะต้องดูแลเรื่องเอกสารที่หน้างานเป็นพิเศษ

          วิศวกรสนามบางบริษัทก็ดูแลงานสนามอย่างเดียว บางบริษัทก็ต้องผันไปเป็น วิศวกรสำนักงานหรือ Office Engineer ด้วย แต่อาจจะแค่ทำเอกสารง่ายๆนิดๆหน่อยๆไม่เต็มระบบ ดังที่จะเล่าให้ฟังในตอนต่อไป