Translate

วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

Build Iron man ตอนที่ 3 " Site Engineer " [Part III] วิทยายุทธที่จำเป็น

          แล้วก็มาถึงตอนที่ 3 ของบล๊อก Build Civil Man ตอน Build Iron Man นะครับ ที่มาของชื่อตอน ก็ไม่มีอะไรมาครับ แค่ผู้เขียนก็ขอเกาะกระแสหนังดังที่กำลังจะเข้าโรงภาพยนต์ฉายกันเร็วๆนี้
       
          ในการทำงานขั้นต้น เราก็ควรจะมีวิชาหรือวิทยายุทธติดตัวไว้บ้าง สำหรับไว้ป้องกันตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นในยุทธภพ ไปๆมาๆกลายเป็นหนังจีนกำลังภายในไปซะละ 555
       
           วิชาแรกที่ควรจะมีติดตัวคือ วิชามนุษยสัมพันธ์ ครับ  น้องๆวิศวกรท่านใดคิดว่าเจ๋ง คิดว่าแน่ อีโก้สูงก่อนเข้าไปไซต์งานก่อสร้าง ให้เอาวางกองทิ้งไว้หน้าปากทางเข้ารั้ว ตรงนั้นก่อนนะครับ หากคุณเป็นคนที่ IQ ดีแต่ EQ. ต่ำนั้น ผมรับรองว่างานนี้ไม่เหมาะกับคุณเลย เพราะอะไรน่ะหรือครับ เพราะว่าเราไม่สามารถทำงานทั้งหมดทั้งมวลในโครงการก่อสร้างได้ด้วยตัวคนเดียวครับ

            ต้องทำงานเป็นทีม !! ทีมของเราประกอบด้วย กลุ่มคนที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การทำให้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จด้วยดี อย่างมีคุณภาพและกำไร    

            เมื่อต้องทำงานเป็นทีมแล้วมนุษยสัมพันธ์กับคนในทีมของเราต้องดี และรักษาความสัมพันธ์ในเชิงบวกเข้าไว้ และต้องมีเป้าหมายวัตถุประสงค์เดียวกัน จึงจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก



          วิชาที่สอง วิชาการแก้ปัญหา ในแต่ละวันหน้างานก่อสร้างมักจะเจอปัญหาอยู่ทุกวัน ไม่ต้องตกใจเป็นเรื่องปกติ  เมื่อเจอปัญหาให้เราฝึกที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา อย่าหลบหนี ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอมักจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งมักจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว มักจะมีเวลาและทรัพยากรอย่างจำกัดสำหรับวิธีการหาทางแก้ไขปัญหา โดยทั่วไปมักจะแก้ไขได้ไม่ค่อยดีในช่วงเริ่มต้น ควรจะหาผู้รู้เพื่อ ปรึกษาก่อนจะตัดสินใจกระทำการใดออกไป แต่ถ้าหากเรามีการฝึกที่จะแก้ไขบ่อยๆแล้ว ช่วงหลังๆปัญหามักจะซ้ำๆกัน ทำให้การแก้ปัญหากลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับเรา ขอให้อดทนผ่านช่วงแรกไปได้ช่วงหลังจะสบายขึ้น รับรองเราจะเก่งขึ้นอย่างหาตัวจับได้ยากและจะแลดูมีค่าในวงการ





          วิชาที่สาม วิชาความอดทน วิศวกรสนามควรจะมีความอดทนเป็นอย่างยิ่งจึงจะก้าวไกลในสายอาชีพนี้ แบ่งได้เป็นสองประเภท คือ ความอดทนทางกาย และ ความอดทนทางใจ 
          ความอดทนทางกายนั้นได้แก่ อดทนต่อความร้อน แสงแดด อดทนต่อความยากลำบากภายนอกทั้งหลาย ส่วนความอดทนทางใจนั้น เช่น อดทนต่อเสียงด่าเสียงตำหนิ การควบคุมอารมณ์ การรู้จักยับยั้งชั่งใจระหว่างความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เป็นต้น

          เอาล่ะ เมื่อกล่าวถึง 3 วิชาบู๊ แล้วนั้น ต่อไปก็ขอกล่าวถึงวิชาบุ๋น 
          
          วิชาบุ๋นหลักๆที่ใช้บ่อยสำหรับงานวิศวกรสนามได้แก่ 

          Drawing      สำหรับใช้ดูแบบก่อสร้าง การอ่านแบบสำคัญ บางครั้งต้องจินตนาการจาก 2 มิติเป็น 3 มิติได้หากทำได้แบบนี้จะดีมาก บางครั้งก็ต้องใช้โปรแกรม Autocad ได้บ้างจะได้เปรียบ หากเขียน AutoCad ไม่ได้เลยก็ไม่ไหวเหมือนกัน บางที Shop Drawing ก็ต้องทำเองได้

          Survey      บริษัทบางแห่ง ก็อาจจะไม่ได้ใช้เลยเพราะ อาจจะมีช่างสำรวจให้ในบริษัท แต่บางที่ก็ต้องทำเองทุกอย่าง ที่ใช้บ่อยคือการหาแนวเสา แนวอาคาร และหาค่าระดับ โดยใช้กล้องสำรวจ คำนวณไม่ค่อยมีแต่จะเน้นปฏิบัติเสียมากกว่า

          RC Design แต่ใช้ไม่มากสัก 10% ของที่เรียนได้ เนื้องานโดยทั่วไป ไม่ค่อยได้ออกแบบอะไรมากสำหรับหน้างาน นานๆจะมีสักครั้้ง ที่จะต้องคำนวณและเซ็นรับรองรายการคำนวณ ส่งให้ที่ปรึกษาตรวจแต่ที่ควรจะรู้หลักๆเบื้องต้น เช่น การรับน้ำหนักของนั่งร้าน  ค้ำยัน  Dead load , Live load ควรจะมีติดตัวไว้บ้าง 

           Estimate  งานถอดแบบประมาณราคาเป็นทักษะสำคัญ ไว้สำหรับสั่งของสั่งวัสดุใช้งานหรือไว้ใช้หาปริมาณงานที่จะจัดจ้างผู้รับเหมาช่วง  บ่อยครั้งที่มักจะได้รับงานถอดปริมาณเพื่อสั่งวัสดุหรืองานอื่นๆที่ต้องใช้ความรู้ด้านการประมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การวัดปริมาณงานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งประกอบการวางแผนการใช้คน เครื่องจักร เป็นต้น 

           Foundation     ส่วนใหญ่จะใช้ช่วงงานดินงานฐานรากเสาเข็ม กำแพงกันดิน คำนวณหาค่า Blow count หรืออาจจะใช้หาค่างานแก้ไขกรณีเสาเข็มไม่ได้มาตรฐาน เช่น เสาเข็มหัก เสาเข็มเยื้องศูนย์เป็นต้น 

           ที่เหลือก็เป็นวิชาการด้านอื่นๆที่จะได้ใช้น้อยมาก เมื่อเทียบกับวิชาข้างต้น และที่สำคัญที่สุดยังมีความรู้อีกมากมายหลายอย่างที่ไม่มีสอนในตำราเรียน เราจำเป็นจะต้องหาความรู้เพิ่มเติม จากการทำงานจริง หาเอาจากประสบการณ์หน้างาน หรือหน่วยงานอื่นๆที่เชี่ยวชาญที่ได้รวบรวมไว้ มาศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นจอมยุทธได้ในอนาคต
          




วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

Build Iron man ตอนที่ 2 " Site Engineer " [Part II]


          ว่ากันต่อถึงแนวทางอาชีพวิศวกรสนาม (Site Engineer)
       
           งาน Routine ของวิศวกรสนาม 
           
          ยามเช้ามาที่มาทำงาน สิ่งที่วิศวกรสนามต้องทำเลยก็คือ

   1.      ดูแผนงานก่อสร้าง     ดูแผนงานเพื่อให้ทราบว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง มีกำหนดการอะไรอย่างไร มีนัดหมายที่ำสำคัญๆอะไรบ้าง เช่นนัดกับรถเครนให้เข้ามาตอน 10 โมง  นัดรถคอนกรีตผสมเสร็จเข้ามาเทคอนกรีต  หรือนัดคุยงานกับช่าง กับผู้รับเหมา เป็นต้น  




 2.        ตรวจสอบว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่  หลังจากที่ทราบว่าวันนี้มีกำหนดการอะไรบ้างแล้ว ก็ให้ตรวจสอบตามรายการว่าเป็นไปตามที่เราต้องการแล้วหรือยัง  เช่น ตอนนี้ 9 โมงครึ่งแล้วรถเครนที่นัดไว้ตอน 10 โมงมาประจำการพร้อมที่หน้างานหรือยัง  คอนกรีตที่นัดเข้ามาเทคอนกรีตที่หน้างาน งานโครงสร้างหน้างานแล้วเสร็จพร้อมเทคอนกรีตหรือยัง ตรวจสอบปริมาณคอนกรีตที่จะทำการเทอีกครั้งโดยการวัดขนาดและพื้นที่จริงหน้างาน (ไม่ใช่ขนาดตามแบบ) เพราะอาจมีการคลาดเคลื่อน งานที่นัดคุยกับช่างหรือผู้รับเหมาเตรียมเอกสารเตรียมเรื่องที่จะพูดคุยแล้วหรือยัง


3.          Take Action หากงานไม่เป็นไปตามแผน   เช่น โทรศัพท์สอบถามบริษัทรถเครนว่าเดินทางมาแล้วหรือยัง  รีบแก้ไขหน้างานหากว่ายังไม่พร้อมเทคอนกรีต แบ่งคนงานมาช่วยกันรุมแก้ไขงานก่อนเพื่อให้ทันเวลารถคอนกรีตเข้ามา จะได้พร้อมเทคอนกรีต
           สิ่งที่สำคัญที่สุดในงานของวิศวกรสนามที่รับผิดชอบในแต่ละวันก็คือ ต้องรันระบบงานให้เป็นไปตามแผนงานให้ได้ อย่าให้งานสะดุดหรือประสบเหตุขัดข้องให้ล่าช้าได้  เพราะต้นทุนจะเพิ่มขึ้นทันที เมื่อลองพิจารณาจากแรงงานที่มาทำงาน รับเงินค่าแรงเป็นรายวัน ต้องให้มีการดำเนินการงาน ให้มีผลงานออกมาทุกๆวัน ถ้าไม่มีผลงานเกิดขึ้น หรือทำงานให้ปริมาณงานเกิดขึ้นน้อยกว่าค่าแรงงานที่จ่ายต่อวัน โอกาสที่บริษัทจะขาดทุนก็จะมีมากขึ้น

ความสำคัญของการที่งานเป็นไปตามแผนที่วางไว้
หากทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน เสาต้นนี้ถ้าไม่ได้เทคอนกรีต งานโครงสร้างพื้นชั้นถัดไปก็จะดำเนินการต่อไม่ได้


     4.         มอบหมายงานให้ผู้ช่วย  ไซต์งานก่อสร้างมีงานมากมายให้ทำ ดังนั้นเราต้องเลือกที่จะแบ่งงานบางส่วนที่มีผู้ใต้บังคับบัญชาของเรา ที่พอจะช่วยงานเราได้บ้าง อย่าง โฟร์แมนหรือช่างในไซต์งาน  ง่ายๆเริ่มโดยการเช็คจำนวนคนงานกับโฟร์แมนก่อนว่าวันนี้คนงานมาทำงานกี่คน มีช่างมาทำงานกี่คน เพื่อจะได้กำหนดงานวางแผนให้ไปทำงาน ตามลำดับความสำคัญ และสัมพันธ์กับปริมาณงาน โดยทั่วไปโครงการก่อสร้างมักจะมีลำดับการทำงานไว้ในสัญญา แบ่งงานออกเป็นงวดงาน เพื่อที่กำหนดกรอบการทำงานให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างทำงานตามขั้นตอนให้เสร็จตามงวด เพื่อการเบิกจ่ายเงิน

     5.         ตรวจสอบและติดตามงานที่ทำ   งานที่มอบหมายในแต่ละวันนั้น วิศวกรสนามมีหน้าที่ต้องติดตามตรวจสอบผลการทำงาน และมาตรฐานของงานที่ให้แรงงานทำด้วย หากจะให้ดีควรที่จะบันทึกปริมาณงานที่ทำได้ต่อวัน เพื่อจะได้ทราบว่าเกิดผลงานออกมาเท่าไหร่ ประสิทธิภาพการทำงานคิดคำนวณออกมาดีหรือไม่ในเชิงตัวเลข และค้นหาสาเหตุว่าเพราะอะไรถึงทำงานออกมาได้ดี และเพราะอะไรถึงทำงานออกมาได้ไม่ดี  เพื่อหาทางแก้ไขหรือเสนอผู้บังคับบัญชาต่อไป บางครั้งการบันทึกอาจจะทำในรูปแบบของรายงานประจำวัน

ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้บันทึกการทำงานประจำวัน
ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้บันทึกการทำงานประจำวัน

    6.          ถ่ายภาพการทำงาน วิศวกรสนามควรถ่ายรูปในจุดที่สำคัญ และควรจะถ่ายภาพทุกวัน เพราะงานก่อสร้างบางจุดที่ เมื่อดำเนิการแล้วเสร็จไปแล้ว ถ้าหากไม่เก็บภาพไว้ก็จะไม่สามารถทราบได้เลยว่าตำแหน่งนั้นผิด-ถูกเป็นอย่างไร ผ่านแล้วผ่านเลย

                  งานอื่นๆ
          บางครั้งวิศวกรสนามอาจจะมีงานอื่นๆนอกเหนือจากที่กล่าวมา ซึ่งเป็นระบบการทำงานของแต่ละบริษัทจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นผมจะยกตัวอย่างมา ตามประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เคยปฎิบัติงานมา

    สั่งวัสดุใช้งาน     บางบริษัทการสั่งวัสดุที่จะใช้งานก็เป็นหน้าที่ของวิศวกรสนามที่จะต้องเป็นคนสั่งของเตรียมวัสดุให้มีพอใช้ในหน่วยงาน จะมีเจ้าหน้าที่จัดซื้อเป็นคนจัดการประสานงานให้้เราอีกที โดยเราอาจจะมีระบบการสั่งวัสดุออนไลน์ หรือใช้วิธีเขียนใบสั่งวัสดุและแฟกซ์ส่งไปที่เจ้าหน้าที่จัดซื้อของบริษัท เป็นต้น  ถ้าหากว่าเราจะต้องประสานงานเองทุกอย่าง งานจะล้นมือเกินไปและไม่มีจะพลอยทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพได้
  

หากไม่มีคนควบคุมดูแลสั่งของ สั่งวัสดุมาให้ช่างเหล็กทำงาน งานในส่วนนั้นอาจถึงกับหยุดชะงักได้


   เป็นผู้ำกำกับการแสดง  วิศวกรสนามต้องเตรียมแบบก่อสร้างไว้ให้โฟร์แมนช่วยกันดูแลกำกับงานอีกที และคุยกันก่อนเพื่อให้เข้าใจตรงกัน งานออกมาจะได้ไม่ผิดพลาด  การสื่อสารระหว่างกันในไซต์งานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อทำงานอะไรใหม่ๆในช่วงแรกต้องดูแล อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เมื่อคนงานสามารถทำงานได้แล้วด้วยตนเองจึงค่อยๆคลายการดูแลได้บ้าง แต่อย่าให้ถึงกับละสายตาเลย เพราะลักษณะงานก่อสร้างมักจะมีความซ้ำๆกันในรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ถ้าผูกเหล็กเสา 10 ต้น ถ้าหากต้นที่ 1 และ 2 ผูกเหล็กได้ถูกต้องดีแล้ว ต้นที่ 3-10 ก็พอจะปล่อยการดูแลได้บ้าง เป็นต้น

   ประสานงานระหว่างหน่วยงาน / บุคคล     เพื่อให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี การประสานงานกับบุคคลอื่นหรือหน่วยงานอื่นเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะโครงการก่อสร้างหนึ่งมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย สิ่งสำคัญควรจะจดชื่อ เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมลล์และช่องทางอื่นๆไว้สำหรับติดต่อให้มากที่สุด 
บางครั้งวิศวกรสนามต้องคุยงานตั้งแต่ เจ้าของงาน เจ้าของบริษัท บริษัทที่ปรึกษา เด็กส่งของ ไปยังแรงงาน คนงาน ผู้รับเหมาช่วง 

    จดบันทึกรายงานการประชุม     บริษัทรับเหมาก่อสร้างมักจะมีการประชุมกันเองภายในไซต์งานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  เพื่อหารือ สรุปงานที่ทำ ปัญหาอุปสรรค มาพูดคุยแก้ไขกัน และควรจัดทำบันทึกการประชุมไว้ พิมพ์และทำสำเนาส่งให้ผู้เข้าร่วมการประชุมคนละ 1 ชุด  ยังไม่นับการประชุมกับหน่วยงานภายนอกอื่นๆ 

                   






ฺBuild Iron man ตอนที่1 " site engineer " [Part I]

       
          หากนักศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมโยธา จบออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัยมาใหม่ อาชีพการงานที่ควรมองหาตำแหน่งแรกเลยน่าจะเป็นวิศวกรสนาม หรือ Site Engineer เพราะจะเป็นงานที่ให้ความรู้ตรงประเด็น สัมผัสของจริงกันเลยว่ากันอย่างนั้น และบางที่ไม่้เน้นประสบการณ์ทำงานสักเท่าไหร่ จบใหม่ก็รับอื่นๆค่อยมาหาความรู้กันหน้างาน



                                                                    วิศวกรสนาม คืออะไร ??

          ตามคำนิยามของผมส่วนตัวน่าจะเป็น บุคคลที่คอยกำกับดูแลการทำงาน ที่ประจำอยู่ที่หน้างานก่อสร้างประสานงาน สั่งการ โฟร์แมน ช่าง แรงงาน ด้านต่างๆ ว่าควรจะต้องทำอะไร อย่างไรตามขั้นตอนการทำงานและแผนงาน โดยใช้ทฤษฎีความรู้ทางด้านวิศวกรรมโยธาเข้ามารองรับ

           ลักษณะงานโดยทั่วไปก็คือ ทำงานอยู่หน้างานก่อสร้าง คลุกคลีตีวง อยู่กับช่าง ผู้รับเหมา ดูแลงานก่อสร้างชนิดใกล้ชิด ในวันหนึ่งๆต้องพบป่ะผู้คนมากมายหลากหลายกลุ่มมากผู้คนที่มาเกี่ยวข้อง  เพราะในงานก่อสร้างโครงการหนึ่ง มักประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องหลากหลายปาร์ตี้ที่มีส่วนร่วมในการรังสรรค์งานก่อสร้างอาคารหนึ่งให้ประสบความสำเร็จได้

            วิศวกรสนามของบริษัทรับเหมาก่อสร้างงานอาคารทั่วไปนั้นมีลักษณะงาน Routine อาจจะแตกต่างกันไป ตามแต่ระบบงานของแต่ละบริษัท การทำงานนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปจะไม่หนีไปจากที่ระบุึนี้สักเท่าไหร่

             เช้ามา..  ไม่จำเป็นต้องเข้าไปที่ออฟฟิศใหญ่ ส่วนใหญ่วิศวกรสนามมาทำงานที่หน้างานที่โครงการเลย  ที่ไซต์งานก่อสร้างมักจะมีออฟฟิศเล็กๆชั่วคราวให้เราเข้าไปทำงาน เราจะเรียกออฟฟิศนั้นกันว่า " สำนักงานสนาม "



              สำนักงานสนาม

              สำนักงานสนามนั้นคือ สถานที่ทำงานของวิศวกรสนาม บ้างก็ทำจากตู้คอนเทนเนอร์ที่ดัดแปลงให้มีเครื่องปรับอากาศ มีห้องน้ำในตัว มีหลังคา บางที่ดูดีหน่อยก็มีฉนวนกันความร้อนให้ด้วย ข้อดีของสำนักงานสนามแบบตู้คอนเทนเนอร์ก็คือขนย้ายสะดวกเนื่องจากเมื่อจบโครงการก็สามารถนำรถยก มาขนย้่ายสำนักงานได้เลย บางครั้งสำนักงานสนามก็อาจทำจากวัสดุก่อสร้างขึ้นใหม่ แต่เป็นวัสดุชั่วคราวรื้อถอน-ประกอบได้ง่าย บางที่ประหยัดงบประมาณมากๆก็นำวัสดุเหลือใช้ ที่รื้อมาจากไซต์งานอื่นมาประกอบขึ้นใหม่เป็นสำนักงาน ทำอย่างไรก็ได้ให้นั่งทำงานได้ว่ากันแบบนั้น




          ขนาดของสำนักงานสนามนั้น จะใหญ่จะเล็กดูดีหรือไม่ก็แล้วแต่มูลค่างานก่อสร้างโครงการ กับจำนวนพนักงานที่บริษัทจัดสรรเข้ามาทำงานและผูกเงื่อนไขไว้กับสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง และสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษา เช่น ถ้างบประมาณงานก่อสร้างสูงสำนักงานก็จะดูดีมีระดับ อุปกรณ์ครบครัน บางที่ระบุ Spec ละเอียดไปเลยว่าสำนักงานต้องมีขนาด กี่ตารางเมตร มีเครื่องปรับอากาศกี่ชุด ต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้างและต้องสร้างสำนักงานเผื่อหน่วยงานอื่น อย่างตัวแทนเจ้าของงาน หรือบริษัทที่ปรึกษาหรือไม่

          สำนักงานสนามที่ดีจะต้องมีห้องประชุม เพราะงานก่อสร้างมักจะมีการประชุมงาน ค่อนข้างบ่อย อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง บางทีช่วงเร่งงานมากๆอาจประชุมกันทุกวันก็มี ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ห้องน้ำ..ควรสร้างแยกออกมาจากตัวสำนักงาน ทำการดูทิศทางให้อยู่ใต้ลมเข้าไว้จะดี เพื่อป้องกันกลิ่นและปัญหาอื่นๆ

          อุปกรณ์เครื่องใช้ก็ควรมีติดไว้เหมือนสำนักงานทั่วไป ที่สำคัญและจำเป็นผมขอเน้นไปที่  กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ ปรินท์เตอร์ กระดาษพร้อมหมึกพิมพ์ ตู้เก็บเอกสาร โต๊ะกางแบบ เพราะจำเป็นมาก เอกสารสำคัญควรเก็บไว้ที่ตู้เก็บเอกสาร เพราะถ้าหายย่อมไม่พ้นความรับผิดชอบของวิศวกรอย่างเราๆที่จะต้องดูแลเรื่องเอกสารที่หน้างานเป็นพิเศษ

          วิศวกรสนามบางบริษัทก็ดูแลงานสนามอย่างเดียว บางบริษัทก็ต้องผันไปเป็น วิศวกรสำนักงานหรือ Office Engineer ด้วย แต่อาจจะแค่ทำเอกสารง่ายๆนิดๆหน่อยๆไม่เต็มระบบ ดังที่จะเล่าให้ฟังในตอนต่อไป